สาระน่ารู้ » “ลองหยุดเผา เราทำปุ๋ย”

“ลองหยุดเผา เราทำปุ๋ย”

10 มีนาคม 2019
476   0

การเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับการทำปุ๋ยหมักจากใบไม้

– เศษใบไม้แห้ง จำนวน 100 ส่วน โดยเก็บรวบรวมเอาในพื้นที่นั่นเอง สามารถใช้ได้ทั้งแบบที่แห้งดีแล้วและแบบที่ยังมีความเปียกชื้นอยู่

– ปุ๋ยคอก จำนวน 10 ส่วน ปุ๋ยคอกก็คือมูลสัตว์นั่นเอง ส่วนมากนิยมใช้มูลวัวเพราะหาได้ง่าย หากต้องซื้อก็มีราคาถูก และกลิ่นไม่ฉุนรุนแรงมากนัก

– น้ำสะอาด

– ภาชนะที่จะใช้ทำปุ๋ยหมัก จะเป็นถังก็ได้ เป็นกระสอบก็ได้ หรือถ้าไม่มีภาชนะที่ใหญ่เพียงพอ ก็สามารถทำบนพื้นดินธรรมดาได้เลย เพียงแต่ต้องทำคอกกั้นเสียก่อน อาจใช้สแลนหรือผ้าตาข่ายมาเป็นกำแพงกั้นโดยรอบได้

ขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้

– คลุกเคล้าส่วนผสม 2 อย่างเข้าด้วยกันเสียก่อน คือ ใบไม้แห้งและปุ๋ยคอก หากวัตถุดิบทั้งสองเป็นแบบแห้งจะช่วยให้การคลุกเคล้านั้นทำได้ง่ายขึ้น หลายคนจึงนิยมเอาส่วนผสมทั้ง 2 ไปตากแดดสัก 2 วันก่อน รอให้แห้งสนิทดีจึงเอามาคลุกเข้าด้วยกัน

– หากมีการเติมปุ๋ยเคมีเพิ่มเติมก็ให้ใส่เพิ่มหลังจากส่วนผสมหลักเข้ากันดีแล้ว ค่อยๆ คลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง การจะได้ปุ๋ยหมักจากใบไม้ที่มีคุณภาพดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความละเอียดในขั้นตอนการคลุกเคล้านี่เอง ดังนั้นให้ใช้เวลาสักหน่อยในขั้นตอนนี้

– รดน้ำให้มีความชื้นในระดับที่พอดี ไม่เปียกโชกไป ไม่แห้งเกินไป ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างสภาวะที่ดีให้กับจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตชนิดนี้จะทำหน้าที่ได้ดีก็ต่อเมื่อมีความชื้นเพียงพอเท่านั้น

– บรรจุลงในภาชนะที่ใช้หมักหรือนำไปกองรวมบริเวณที่จัดเอาไว้

– หากเป็นกองเล็กๆ ก็ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม แต่หากเป็นกองใหญ่หรือภาชนะที่ใส่มีความจุมาก ก็ต้องหมั่นมาพลิกกลับปุ๋ยในทุกๆ วัน เพื่อเติมออกซิเจนให้กับจุลินทรีย์ เป็นการเร่งให้เกิดการย่อยสลายอีกทางหนึ่งด้วย

– ในแต่ละวันที่ทำการพลิกกลับปุ๋ยหมักก็ต้องรดน้ำเพิ่มเติมเข้าไปด้วย โดยรดที่ผิวด้านนอกให้ทั่ว ต้องแน่ใจว่าทุกส่วนของปุ๋ยยังคงมีความชื้นที่เหมาะสมอยู่เสมอ

ขั้นตอนการเช็คสภาพปุ๋ย

ปุ๋ยที่พร้อมใช้งานแล้วจะมีลักษณะร่วนซุย สีน้ำตาลเข้มหรือดำ มีอุณหภูมิของปุ๋ยใกล้เคียงกันในทุกส่วนของเนื้อปุ๋ย การทำปุ๋ยหมักแบบใช้ออกซิเจนหรือการพลิกกองให้มีออกซิเจนซึมเข้าไปในเนื้อปุ๋ยแบบนี้ จะไม่ค่อยมีกลิ่นฉุนมากเท่ากับการหมักปุ๋ยแบบไม่ใช้ออกซิเจน ดังนั้นถ้าปุ๋ยเข้าลักษณะ 3 ประเด็นแรกไปแล้วก็ให้ถือว่าพร้อมใช้งาน

การนำปุ๋ยหมักจากใบไม้ไปใช้งาน

เนื่องจากว่าเราทำให้ปุ๋ยมีความชื้นอยู่ตลอด ก่อนจะนำไปใช้งานจึงต้องเอาไปตากแดดหรือผึ่งลมให้แห้งสนิทดีเสียก่อน โดยปูผ้าใบแล้วเทปุ๋ยลงไป ใช้จอบเกลี่ยให้ปุ๋ยกระจายตัวออกเป็นชั้นบางๆ หมั่นมาพลิกกลับให้โดนแดดโดยทั่วกัน ทำแบบนี้สักประมาณ 2 วันก็จะแห้งสนิท นำไปใช้งานได้แล้ว

อัตราส่วนในการใช้งานจะอยู่ที่ปุ๋ยหมักจากใบไม้ 1 ส่วนต่อปริมาณของดินเพาะปลูก 10 ส่วน ไม่ควรโรยปุ๋ยไว้ที่หน้าดินเพราะจะได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ให้โรยปุ๋ยแล้วพรวนดินซ้ำจนปุ๋ยคลุกลงไปในชั้นดินสักเล็กน้อย ธาตุอาหารที่สำคัญทั้งหมดจึงจะไม่ระเหยไป